จุดเริ่มต้นว่าด้วยเรื่องของ “เฮมพ์” หรือ “กัญชง” ที่ไม่ใช่ “กัญชา”.

เริ่มด้วยเรื่องของ “เฮมพ์”
จากสถานการณ์ในเรื่องของตัวบทกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับกลุ่มพืชที่จัดเป็นประเภทยาเสพติด ที่ประชาชนนั้นไม่สามารถดำเนินการผลิตได้อย่างเสรี หากมีการผลิตหรือปลูกโดยไม่ได้รับการขออนุญาตแล้ว จะถือได้ว่าเป็นการกระทำที่ต้องได้รับการลงโทษถึงการกระทำดังกล่าวตามกฎหมาย จึงได้ถูกยกขึ้นเป็นประเด็นร้อนที่มีการกล่าวถึงกันมากในภาพข่าวทางโทรทัศน์ และสื่อในสังคมโซเชียลในหลากหลายประเด็น ดังนั้นเพื่อสร้างความเข้าใจที่ถูกต้อง ซึ่งถือได้ว่าเป็นจุดเริ่มต้นกระบวนการปรับเปลี่ยนในหลาย ๆ มิติ และนำมาซึ่งการนำพืชที่ถูกระบุว่าเป็นประเภทยาเสพติดนั้นมาประยุกต์ และใช้ประโยชน์ในหลาย ๆ ด้าน ไม่เฉพาะวงการแพทย์เท่านั้น ดังนั้นจุดเริ่มต้นจึงเป็นการนำเสนอข้อมูลรายละเอียดต่าง ๆ ว่าด้วยเรื่องของเฮมพ์ หรือกัญชง ขั้นตอนกระบวนการขออนุญาตของผู้ขอรับใบอนุญาตเพื่อการผลิตสำหรับการทำวิจัย และอื่น ๆ

โดยทั่วไปประชาชนส่วนมากจะรู้จักพืชที่เรียกว่า “กัญชา” หรือมารีฮวนนา (Marijuana) ที่มีชื่อทางวิทยาศาสตร์ว่า Cannabis indica Lam. ในขณะที่มีพืชอีกชนิดหนึ่งที่มีลักษณะใกล้เคียงกับกัญชา นั่นคือ “กัญชง” หรือที่บางคนมีความเข้าใจว่า กัญชง คือ น้องของกัญชา ดังนั้นเพื่อไม่ให้เกิดความสับสนของพืชทั้งสองชนิดนี้ ในทางกฎหมายจึงได้มีการระบุหรือให้เรียก “กัญชง” ว่า “เฮมพ์ (Hemp)” มีชื่อทางวิทยาศาสตร์ว่า Cannabis sativa L. จัดเป็นยาเสพติดให้โทษประเภท 5 ตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ ปี พ.ศ. 2522

กัญชาและเฮมพ์เป็นพืชที่อยู่ในวงศ์ Cannabaceae และเป็นพืชดั้งเดิมที่มีการปลูกเพื่อใช้เส้นใยมานับพันปีในเอเชียและตะวันออกกลาง และสันนิษฐานว่า มีการกระจายพันธุ์อยู่ทางตอนกลางของทวีป ได้แก่ พื้นที่ทางตอนใต้ของแคว้นไซบีเรีย ประเทศเปอร์เซีย ทางตอนเหนือของแคว้นแคชเมียร์ ประเทศอินเดีย และบริเวณเชิงเขาหิมาลัย ประเทศจีน ก่อนจะกระจายไปในที่ต่าง ๆ (ประภัสสร ทิพย์รัตน์, 2562) พืชกลุ่ม Cannabis มีการจัดจำแนกขึ้นเป็นครั้งแรกในปี ค.ศ. 1753 โดย Carl Linnaeus นักพฤกษศาสตร์ชาวสวีเดนที่คิดค้นการจำแนกชื่อของสิ่งมีชีวิตด้วยระบบที่ทันสมัย และสามารถแบ่งพืชกลุ่ม Cannabis ออกเป็นสามสายพันธุ์ ได้แก่ 1) สายพันธุ์ที่ปลูกเพื่อใช้ประโยชน์จากเส้นใย โดยมีลำต้นที่ยาว และแตกกิ่งก้านเล็กน้อย 2) สายพันธุ์ที่ปลูกเพื่อใช้ประโยชน์จากเมล็ดที่สามารถรับประทานได้ทั้งดิบหรือสกัดน้ำมันมาใช้ และ 3) สายพันธุ์ที่ปลูกเพื่อใช้ประโยชน์ในการรักษาโรคหรือเพื่อการพักผ่อนหย่อนใจ (Wikipedia, 2019; Cannabis.info, 2019)

ปัจจุบันประเทศไทยจัด “เฮมพ์และกัญชา” เป็นยาเสพติดให้โทษประเภท 5 การผลิต จำหน่าย นำเข้า ส่งออก หรือมีไว้ในครอบครองต้องได้รับอนุญาตจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข โดยความเห็นชอบของคณะกรรมการควบคุมยาเสพติดให้โทษ ซึ่งเป็นไปตามมาตรา 26 แห่งพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 เนื่องจากทั้ง “กัญชาและเฮมพ์” มีต้นกำเนิดมาจากพืชชนิดเดียวกัน

ในหลายประเทศสามารถปลูก “เฮมพ์” ได้อย่างถูกต้องตามกฎหมาย หากแต่ต้องควบคุมให้มีสารเสพติด คือ สารเตตราไฮโดรแคนนาบินอล (Tetrahydrocannabinol, THC) อยู่ในปริมาณที่กำหนด เช่น ในประเทศแคนาดากำหนดให้มีสารเสพติด THC ในเฮมพ์ไม่เกินร้อยละ 0.3 ส่วนประเทศทางยุโรปกำหนดให้มีไม่เกินร้อยละ 0.2 ประเทศออสเตรเลียกำหนดให้ไม่เกินร้อยละ 0.5-1 สำหรับประเทศไทยกำหนดให้ไม่เกินร้อยละ 1.0 หากในอนาคตมีการส่งเสริมให้เกษตรกรสามารถปลูกเฮมพ์ได้ถูกต้องตามกฎหมายแล้วนั้น การจำแนก “เฮมพ์” ออกจาก “กัญชา” จึงมีความสำคัญเป็นอย่างมาก

http://www.ej.eric.chula.ac.th/content/6131/256